น้ำตกห้วยยาง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ และได้ปรับปรุงให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่เดิมนั้นมีน้ำตกด้วยกันอยู่ทั้งหมด 9 ชั้น แต่ปัจจุบันมีเหลือเพียง 7 ชั้น เท่านั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวอยู่หลายจุด ซึ่งจะมองเห็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์และทิวทัศน์ของทะเลเมืองประจวบฯ ได้
ส่วนที่ได้ชื่อว่าน้ำตกห้วยยาง
ก็เพราะบริเวณริมห้วยยางนั้นจะมีต้นไม้ยางขึ้นอยู่เป็นกลุ่มไปตามลำห้วยจนจรดทะเล
ซึ่งในปัจจุบันก็พอจะหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แต่เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513
ได้เกิดพายุ (พายุรูท) ลมแรง ฝนตกไม่หยุดทั้งกลางวันและกลางคืนประมาณ 3 วัน วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง
300 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าลงมาจากยอดเขาหลวงพัดพาเอาต้นไม้และก้อนหินน้อยใหญ่
พังลงตามห้วยยางทำให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติริมคลองห้วยยางทั้งสองฝั่ง และทำให้น้ำตกที่สวยงามเกิดพังทลายกลายสภาพเป็นลำธารหิน
และทิ้งส่วนที่เหลือเป็นน้ำตกไว้ไม่กี่แห่ง ต่อมาได้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อจับจองที่ดินของราษฎรมากขึ้น
กรมป่าไม้จึงเล็งเห็นความสำคัญจึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล และจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาธรรมชาติควบคู่ไปกับการป้องกันรักษาป่า
เมื่อปี พ.ศ. 2514 ในนามของ "วนอุทยานน้ำตกห้วยยาง" ต่อมาได้รับการรายงานว่ามีการค้นพบน้ำตกที่มีความสวยงามอีก
1 แห่ง ได้แก่ น้ำตกขาอ่อน (ทับมอญ) และน้ำตกห้วยหินดาษ ดังนั้นจึงเห็นสมควรที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
โดยรวมเข้ากับน้ำตกห้วยยางเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 นั่นคือที่มาของอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง